จากบันทึกเอกสาร และคำบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของชา กล่าวว่า จีนเป็นประเทศแรกของโลกที่ค้นพบใบชา เมื่อราวสองพันปีก่อนคริสตกาล ด้วยเหตุบังเอิญ เมื่อครั้ง “เสินหนง” ผู้ปกครองในยุคแรกของจีนเสด็จประพาสป่า ขณะนั่งดื่มน้ำร้อน มีใบไม้ชนิดหนึ่งร่วงลงในถ้วย เมื่อทรงดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า จึงได้นำมาแจกจ่ายให้กับข้าราชบริพาร ต่อมาเป็นที่นิยมดื่มและเพาะปลูกอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นวัฒนธรรมการดื่มชาที่อยู่คู่ชาวจีนตลอดมา ทำให้ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ส่งออกใบชามากที่สุดอันดับหนึ่งของโลก
ในยุคที่จีนติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ชาและวัฒนธรรมการดื่มชาได้เผยแพร่ไปในหลายประเทศทั่วโลก ในปีคริสต์ศักราช 1191 พระชาวญี่ปุ่นไปศึกษาธรรมะที่ประเทศจีน และได้ลิ้มรสชาจีนจนรู้สึกติดใจ จึงนำเมล็ดชากลับมาปลูกที่บ้านเกิด จนมีการพัฒนากรรมวิธีการปลูกชา การบ่มชา และวัฒนธรรมการดื่มชาแบบญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ชาที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่มมากที่สุดคือ ชาเชียว
ด้วยชื่อเสียงและสรรพคุณอันเป็นที่เลื่องลือของชา ทำให้ประเทศอินเดียนำเข้าเมล็ดชาเพื่อมาทดลองปลูกตามไหล่เขาแถบเทือกเขาหิมาลัย และพัฒนาจนเกิดสายพันธุ์พิเศษ ได้แก่ ชาดาร์จีลิง (Darjeeling Tea) และชาอัสสัม (Assam Tea) ซึ่งมีรสชาติและกลิ่นหอมเฉพาะตัว หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ชาอินเดีย” โดยปัจจุบันส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างประเทศศรีลังกาก็นำเข้าชามาปลูก และพัฒนาสายพันธุ์จนได้ชาคุณภาพเยี่ยมอย่างชาซีลอน (Ceyion Tea) ที่รู้จักกันไปทั่วโลก และทำให้ศรีลังกาเป็นประเทศส่งออกใบชาเป็นอันดับสี่ของโลก
ส่วนประเทศแถบตะวันออกกลาง อาทิ ตุรกี อิหร่าน อิรัก ซีเรีย และจอร์แดน นิยมดื่มชาเช่นกัน โดยเฉพาะชาร้อน เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายและชุ่มคอด้วยการชงในแก้วเล็ก ส่วนใหญ่นิยมใช้ชาดำ ชาแอ๊ปเปิ้ล และชาคาโมมายล์เป็นหลัก นอกจากนี้ตุรกียังเป็นประเทศที่ปลูกชามากเป็นอันดับห้าของโลกอีกด้วย ขณะที่ประเทศเล็กๆ อย่างเคนยามีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการปลูกชาดำชั้นดี จึงทำให้คุณภาพใบชาที่ได้เป็นเลิศทั้งรสชาติ กลิ่นหอมและสีทองอร่ามของน้ำชา ในขณะที่ชงด้วยปริมาณใบชาที่น้อยกว่าชาชนิดอื่นๆ จนมีการนำชาเคนยามาผสมกับชาอัสสัมสำหรับทำเป็นชาอิงลิชเบรกฟาสต์ (English Breakfast Tea) ปัจจุบันประเทศเคนยาเลื่อนอันดับการส่งออกใบจาจากสี่ขึ้นมาเป็นอันดับสามของโลก
ขณะที่อีกฟากหนึ่งของโลก ประเทศแถบตะวันตกได้รับวัฒนธรรมการดื่มชาเข้ามาเมื่อราวปีคริสต์ศักราช 1657 ประเทศอังกฤษนำเข้าใบชาจากจีนเพื่อดื่มกันในกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น เพราะทางการกำหนดให้ภาษีใบชามีราคาแพง แต่เมื่อข้อกำหนดดังกล่าวถูกยกเลิก ชาวอังกฤษจึงสามารถดื่มชาได้ทุกชนชั้น และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการดื่มชาแบบอังกฤษที่โด่งดังไปทั่วโลก อาทิ การตั้งโรงงานผลิตชายี่ห้อลิปตันและยี่ห้อทไวนิงส์ ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสกลับนิยมดื่มกาแฟกันมากกว่า
สำหรับประเทศไทย สันนิษฐานว่าคนไทยเริ่มดื่มชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งเริ่มค้าขายกับชาวจีน จึงมีการนำเข้าชาจีนมาเป็นจำนวนมาก แต่กลับได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงหรือใช้เพื่อต้อนรับแขกเท่านั้น โดยจะดื่มชาร้อนไม่ผสมน้ำตาล ต่อมาการดื่มชาเริ่มแพร่หลายจนมีการเพาะปลูกใบชาอย่างจริงจังทางภาคเหนือของประเทศ พร้อมทั้งมีการคิดค้นสูตรชาไทย ซึ่งทำจากชาดำหรือชาฝรั่ง ให้มีรสเข้มข้นถูกปากคนไทยอีกด้วย
ปัจจุบันคนไทยนิยมดื่มชากันอย่างแพร่หลาย พร้อมกับรับวัฒนธรรมจากชาติอื่นๆ เข้ามาผสมผสาน เช่น “ชาเขียว” สไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาชั้นดี ไม่ใส่น้ำตาลและแต่งสี จึงเหมาะกับคนรักสุขภาพ “ชานมไข่มุก” จากไต้หวัน ที่มีรสหวานมันคล้ายชาเย็นของไทย และมีเม็ดไข่มุกเคี้ยวหนุบหนับเข้ากันดี รวมถึง “ชาชัก” หรือ “ชาชัก-ลังกา” ที่เดิมทีนิยมดื่มกันมากในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้ชาซีลอนชงกับนมสดและน้ำตาล เวลาชงจะใช้กระบอกชงชงเทชาจากที่สูงสลับไปมาเพื่อเพิ่มฟองอากาศ จึงมีรสนุ่มลิ้นกว่าการชงแบบอื่นๆ ส่วนชารสเข้มช้นที่นิยมดื่มกันมากและมีราคาถูกกว่าชาทุกชนิดคือชาไทย มีทั้งใส่นมที่เรียกว่า “ชาเย็น” และไม่ใส่นมที่เรียกว่า “ชาดำเย็น” ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดในเกือบทุกฤดู ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมดื่มชาร้อน นิยมดื่มชาเย็นใส่น้ำแข็งมากกว่า (รู้ไหมว่าประเทศไทยนั้นนิยมดื่มหรือกินน้ำแข็งจนทำให้เครื่องทำน้ำแข็งใสหรือเครื่องปั่นขายดีติดอันดับโลก รวมไปจนถึงมูลค่าของร้านน้ำแข็งใสชื่อดังที่มูลค่ารวมเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท) ดังนั้นเมื่อพูดถึง “ชา” ก็มักนึกถึงชาเย็นซึ่งขายตามร้านกาแฟกันมากกว่า สำหรับชาสุขภาพอย่างชาผลไม้ ชาสมุนไพร หรือชาดอกไม้ มีนิยมดื่มกันบ้างในกลุ่มคนรักสุขภาพบ้านเรา แต่ยังไม่แพร่หลายนัก