จากการเดินทางอันแสนยาวนานของชา ผ่านภูมิประเทศ ผู้คน และวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการดื่มชาอันเป็นเอกลักษณ์และเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์อันน่าหลงใหล การดื่มชาจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะการลิ้มรสชาเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การบ่ม และการชงชา ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมการดื่มชาของโลกจึงแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ดังนี้
1. การดื่มชาของชาวจีน
คนจีนนิยมดื่มน้ำชาเป็นกิจวัตร และให้ความสำคัญกับรสชาติ สรรพคุณของชาแต่ละชนิดมากกว่าการชงชาด้วยพิธีรีตองที่ซับซ้อน นิยมดื่มหลังอาหารเพื่อช่วยล้างกลิ่นคาวและความมันในช่องปาก พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ยังใช้เป็นเครื่องดื่มสำหรับต้อนรับแขกหรือตั้งวงสนทนาระหว่างเพื่อนฝูง กาน้ำชาจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับครอบครัวคนจีน ในภาษาจีนกลางจะเรียกการดื่มชาว่า “เฮอฉา” หรือที่คนไทยเคยได้ยินกันว่า “หยำฉา” ซึ่งเป็นภาษากวางตุ้น คนจีนนิยมดื่มชาควบคู่กับของว่างพวกติ่มซำ เช่น ซาลาเปา ขนมจีบ หมั่นโถว เป็นต้น
ภาษาจีนกลางจะเรียกชาว่า “ฉา” ซึ่งมีหลายชนิดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุของชา และวิธีการผลิต ส่วนชาจีนที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงมากที่สุด 10 ชนิด ได้แก่
- ฉีเหมินฉา ชาดำชื่อดังจากเมืองฉีเหมิน มณฑลอานฮุย มีรสชาติเข้มข้น ดื่มแล้วหอมติดปาก ชุ่มคอ ช่วยให้รู้สึกสดชื่น นิยมกันมากในกรุงปักกิ่ง
- หลงจิ่งฉา หรือหลงจิ่งลวี้ฉา ชาเขียวที่มีสีเขียวเข้มคล้ายมรกต และเป็นชาเขียวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของจีน มาจากเหมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง
- ปิ๊เหลยชุนฉา เป็นชาเขียวที่ปลูกไว้ปนกับต้นผลไม้ชนิดต่างๆ เช่น พลับ สาลี่ บ๊วย บับทิม ส้มจีน ชาชนิดนี้จึงมีกลิ่นหอมของผลไม้ปนอยู่ด้วย นับเป็นชาขึ้นชื่อมากจากเมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซู
- เหมาเฟิงฉา ชาเขียวกลิ่นหอม ดื่มแล้วสดชื่นแจ่มใส เป็นชาขึ้นชื่อจากภูเขาหวง (หวงซาน) มณฑล เจ้อเจียง
- ลิ่วอันกวาเพียนฉา เป็นชาเขียวชนิดพิเศษ ซึ่งมีกลิ่นคล้ายดอกทานตะวัน มาจากเทือกเขาต้าเปีย (ต้าเปียซาน) จากมณฑลอานฮุย
- หวู่หยีหยานฉา, อู๋อี๋หยานฉา, วูหลงฉา หรือที่รู้จักกันในนาม ชามังกรดำ ส่วนคนไทยเรียกว่า ชาอูหลง เป็นชาสีเหลืองอำพัน ซึ่งผ่านกระบวนการผลิตเช่นเดียวกับชาเขียวและชาดำ เป็นที่นิยมกันทั่วโลก มาจากเขาอู่อี๋ (อู่อี๋ซาน) มณฑลฝูเจี้ยน
- เถียะกวนยินฉา หรือ เทียะกวนอิม เป็นสุดยอดชาเขียวอีกชนิดที่มีราคาแพง มาจากเมืองอานซี มณฑลฝูเจี้ยน
- เหม่ยลี่ฮัวฉา มีความหมายว่าชาดอกมะลิ ทำจากการนำดอกมะลิแห้งมาผสมกับชาเขียวหรือชาอูหลวง จนกลิ่นของดอกมะลิติดบนใบชา เป็นชาชื่อดังจากมณฑลฝูเจี้ยน นิยมดื่มมากทางภาคเหนือของจีน
- ไป๋เห่าเหยินเจินฉา เป็นชาขาวที่เปรียบดั่งความงามของหญิงสาว มีกลิ่นหอมละมุน รสหวานอ่อนๆ ดื่มแล้วชุ่มคอ มาจากเมืองฝูเจิ้ง มณฑลฝูเจี้ยน
- ผู่เอ๋อฉา เป็นชาดำกลิ่นแรงและรสชาติเข้มข้น ยิ่งเก็บไว้นานยิ่งมีราคาสูง มาจากมณฑลหยุนหนานทางตอนใต้ของจีน
2. การดื่มชาของชาวญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการดื่มชาเช่นเดียวกับชาวจีน ซึ่งเป็นการสร้างความผูกพันทางจิตใจระหว่างผู้ชงชา (เจ้าภาพ) และผู้ดื่ม (ผู้มาเยือน) มากกว่าการสังสรรค์ โดยผ่านพิธีชงชาอันละเมียดละไม เพื่อให้ได้สัมผัสทั้งรูป รสและกลิ่นของชาอย่างแท้จริง โดยใช้ “มัตชา” หรือผงชาเขียว พิธีชงชาแต่ละครั้งใช้เวลานานประมาณ 4-5 ชั่วโมง ส่วนในชีวิตประจำวันทั่วไป คนญี่ปุ่นดื่มชาเป็นกิจวัตร และแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงสาย และช่วงบ่าย และนิยมดื่มคู่กับเซมเบ้ หรือข้าวอบกรอบ ขนมไดฟูกุ หรือขนมโดรายากิ เป็นต้น
3. การดื่มชาแบบชาวอังกฤษ
ชาวอังกฤษแบ่งการดื่มชาออกเป็น 3 เวลา คือ เช้า บ่าย และเย็น แต่จะให้ความสำคัญกับการดื่มชา ช่วงเวลาอาหารเช้าและอาหารเย็น เพราะเป็นอาหารมื้อใหญ่ โดยจัดขึ้นในหลายสถานที่ เช่น การดื่มชาในสวน ดื่มชาในห้องนั่งเล่น หรือในงานเลี้ยงเต้นรำต่างๆ
เริ่มจากเบรกฟาสต์ที (Breakfast Tea) เป็นการดื่มชาพร้อมกับอาหารเช้า เช่น ออมเล็ต ไข่ดาว แฮม หรืออิงลิชมัฟฟิน ต่อมาคืออาฟเตอร์นูนที (Afternoon Tea) หรือโลว์ที (Low Tea) เป็นการดื่มชาหลังมื้อกลางวัน เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. – 19.00 น. เพราะสมัยก่อนอาหารค่ำจะเสิร์ฟเวลาประมาณ 20.00 น. การดื่มชาในช่วงเวลาดังกล่าวจึงทำให้ไม่รู้สึกหิวจนเกินไป และเป็นช่วงเวลาดื่มชาที่นิยมมากที่สุด ปิดท้ายด้วยมีลที หรือมีตที (Meal Tea or Meat Tea) หรือเรียกอีกชื่อว่า ไฮที (High Tea) ซึ่งเป็นการดื่มชาในมื้อเย็น แต่เดิมเป็นการดื่มชาของชนชั้นแรงงาน แต่ภายหลังกลับได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูง จึงเปลี่ยนจากการเสิร์ฟคู่กับอาหารธรรมดาแบบชาวบ้านมาเป็นอาหารเลิศรสที่ปรุงจากวัตถุดิบชั้นดี
ด้วยความนิยมดื่มชานี้เอง ชาวอังกฤษจึงพิถีพิถันในการคัดเลือกชนิดของชาสำหรับดื่มในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้
- ช่วงเช้า ควรดื่ม ชาอิงลิชเบรกฟาสต์ (English Breakfast Tea) เป็นชาสูตรผสมระหว่างชาซีลอนกับชาอัสสัม หรือส่วนผสมของชาเคนยากับชาอัสสัมรสเข้มข้นมาก ดื่มแล้วช่วยให้ตาสว่าง รู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า
- ช่วงบ่าย ควรดื่ม ชาดาร์จีลิง หรือชาวินเทจ ดาร์จีลิง (Vintage Darjeeling Tea) เป็นชาที่มีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ รสชาติดี เข้ากันได้ดีกับของว่างยามบ่ายหรือมื้อกลางวัน
- ช่วงเย็น ควรดื่ม ชาเอิร์ลเกรย์ (Earl Grey Tea) เป็นชาสูตรผสมระหว่างชาดาร์จีลิง ชาจีน และแต่งกลิ่นด้วยสมุนไพร มีรสฝาดเฉพาะตัว เหมาะสำหรับล้างคอหลังอาหาร
- ช่วงก่อนเข้านอน ควรดื่ม Jasmine Tea หรือ ชากลิ่นมะลิ และ Rose Tea หรือชากลิ่นกุหลาบ ซึ่งกลิ่นหอมจากดอกไม้ของชาทั้งสองชนิดช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและหลับสบายตลอดคืน
นอกจากนี้ชาวอังกฤษยังมีชาอีกหลายชนิด ที่สามารถเลือกดื่มให้เข้ากับสภาพอากาศในแต่ละวัน อาทิ ในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว ควรดื่มชาลาปชาง ซูชอง (Lapsang Souchong Tea) ซึ่งเป็นชาจีนที่อบด้วยควันในเตาอบลมร้อนจากการเผาถ่านไม้โอ๊ก ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ดื่มแล้วชุ่มคอ ส่วนวันที่อากาศอบอุ่นควรดื่ม ชาเอิร์ลเกรย์ ด้วยรสฝาดของชาชนิดนี้จึงช่วยให้รู้สึกสดชื่นได้เป็นอย่างดี ในวันที่อากาศหนาวจัดควรดื่ม ชาพรินซ์ออฟเวลส์ (Prince of Wales Tea) ซึ่งเป็นชาดำสูตรพิเศษที่ผสมจากชาฉีเหมิน ของจีนรวมกันกับชาดำชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด ให้รสชาติเข้มข้น นุ่มลิ้น มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ช่วยคลายความหนาวได้อย่างดี เหมาะสำหรับช่วงเวลาก่อนนอน
4. การดื่มชาของชาวตะวันออกกลาง
การดื่มชาของประเทศแถบนี้ไม่เน้นขั้นตอนยุ่งยาก แต่นิยมดื่มชาเพื่อผ่อนคลายเท่านั้น ใช้การชงด้วยชาดำหรือชาเขียวแบบเข้มข้น เติมน้ำตาล เครื่องเทศ หรือนมได้ตามชอบ และดื่มจากถ้วยเล็กๆ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เน้นรสหวานจัด ทำให้ชุมคอ และช่วยแก้กระหายได้ดี